อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง ลดเสี่ยงโรคภัย
ปัจจุบัน รสชาติอาหารมีความซับซ้อนและสร้างความสุขมากขึ้น แต่ก็ยังมีอาหารบางประเภทที่ควรหลีกเลี่ยง เพื่อสุขภาพที่ดีและอายุที่ยืนยาว
ในอดีตอาหารอาจเป็นเพียงหนึ่งในปัจจัยสี่ แต่ยิ่งมนุษย์มีวิวัฒนาการมากขึ้นเท่าไร การพัฒนาจึงตามมาในทุกๆ ด้าน ไม่เว้นแม้แต่เรื่องของรสชาติอาหาร จะเห็นได้ว่าอาหารเปรียบเสมือนสิ่งสะท้อนวัฒนธรรมของแต่ละชาติที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นอยู่และวิถีชีวิตได้เป็นอย่างดี ไม่เว้นแม้แต่ในยุคปัจจุบันที่อาหารมีหลากหลายไม่ใช่แค่กินเพื่ออิ่มท้อง แต่ยังสร้างความสุข ความอร่อย และความเพลิดเพลินในการรับประทาน จนหลายครั้งเรากินจนมากเกินพอดี ก่อให้เกิดโทษต่อร่างกายได้ โดยเฉพาะกับผู้ที่มีร่างกายอ่อนแออย่างผู้ที่เพิ่งหายจากอาหารเจ็บป่วย หรือผู้สูงวัยที่ร่างกายและอวัยวะเสื่อมถอยไปมาก ควรเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสม มีประโยชน์ต่อร่างกาย ไม่ควรตามใจปาก และหลีกเลี่ยงอาหารบางกลุ่มที่มีลักษณะต่างๆ ดังต่อไปนี้
- อาหารรสจัด ไม่ว่าจะเป็นรสเปรี้ยว เค็ม หวาน หรือเผ็ด ก็ย่อมเกิดโทษต่อร่างกาย ทำให้เกิดกรดในกระเพาะ เสี่ยงต่อการเป็นโรคไต เบาหวาน ไขมันอุดตัน และความดันโลหิตสูงได้ อาหารที่เหมาะกับผู้ป่วยพักฟื้นหรือสูงอายุควรมีรสอ่อนๆ หรือรสจืดๆ ไม่ปรุงแต่งใดๆ หรือปรุงเพียงเล็กน้อย และควรปรุงให้สุก ไม่ควรรับประทานอาหารที่ดิบ หรือไม่ผ่านความร้อน เพราะอาจมีเชื้อโรคในวัตถุดิบได้
- อาหารหวานและไขมันสูง รวมถึงเนื้อสัตว์ที่ติดมัน เป็นอาหารที่อันตรายและไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และยังเป็นสาเหตุให้เกิดโรคต่างๆ ได้ง่ายอีกด้วย อาทิ โรคไขมันในเลือดสูง ซึ่งเป็นโรคที่มีอันตราย อาจนำไปสู่โรคหัวใจ อาการหัวใจขาดเลือด หรือโรคหลอดเลือดหัวใจได้ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ทั้งยังต้องสิ้นเปลืองเงินทองในการรักษาในระยะยาว
- อาหารปิ้งย่างและของทอด วิธีการปรุงสุกเหล่านี้อาจใช้น้ำมันในการทำให้สุก ซึ่งไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ควรเลือกทานอาหารที่ปรุงสุกด้วยการอบ ต้ม และตุ๋นแทน
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีโทษต่อร่างกายอย่างมหาศาล อาจทำให้เส้นเลือดในสมองแตก เกิดอาการสมองมึนงง ตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ ได้ช้าลง และอาจเกิดอุบัติเหตุต่างๆ ขึ้นได้
เมื่อรู้แบบนี้แล้ว จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ให้โทษต่อร่างกาย และก่อให้เกิดโรคต่างๆ แล้วหันมากินอาหารที่เหมาะสมในช่วงพักฟื้น หรือที่เหมาะกับช่วงอายุ ปรุงอย่างถูกสุขลักษณะ มีประโยชน์ต่อร่างกาย ย่อยได้ง่าย นอกจากการทานอาหารให้เหมาะสมเพื่อเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง และหมั่นปฏิบัติตนเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยหรือเสี่ยงต่อโรคแล้ว ก็ควรทำจิตใจให้แจ่มใสอยู่เสมอด้วย เพราะจิตใจที่ดีย่อมส่งผลให้ร่างกายสมบูรณ์ เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงและมีอายุยืนยาวสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นปกติ